เมนู

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 23. โกนาคมนพุทธวงศ์
ทรงบันลือสีหนาท1แล้ว
เสด็จดับขันธปรินิพพาน
[26] พระองค์ทรงถึงพร้อมด้วยพระดำรัสอันมีองค์ 8
มีศีลไม่ด่างพร้อยตลอดกาล ทุกอย่างล้วนอันตรธานไปหมดแล้ว2
สังขารทั้งปวงเป็นสภาพว่างเปล่าหนอ
[27] พระชินเจ้าผู้ประเสริฐพระนามว่ากกุสันธะ
เสด็จดับขันธปรินิพพานที่เขมาราม
พระสถูปอันประเสริฐของพระองค์
ที่เขมารามนั้น สูงถึง 1 คาวุต ฉะนี้แล
กกุสันธพุทธวงศ์ที่ 22 จบ

23. โกนาคมนพุทธวงศ์
ว่าด้วยพระประวัติของพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
[1] สมัยต่อจากพระพุทธเจ้าพระนามว่ากกุสันธะ
ได้มีพระชินสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ
ผู้สูงสุดแห่งเทวดาและมนุษย์ ทรงองอาจกว่านรชน
เป็นผู้เจริญที่สุดในโลก
[2] ทรงบำเพ็ญบารมีธรรม 10 ประการให้บริบูรณ์
ข้ามทางกันดาร3ได้แล้ว ลอยมลทิน4ทั้งปวงแล้ว
ทรงบรรลุสัมโพธิญาณอันประเสริฐ

เชิงอรรถ :
1 บันลือสีหนาท ในที่นี้ได้แก่ บันลือสีหนาท คือ ประกาศการให้อภัย (ขุ.พุทฺธ.อ. 25/370)
2 ได้แก่ ยุคของพระสาวกอันตรธานไป (ขุ.พุทฺธ.อ. 25/371)
3 ทางกันดาร คือชาติ (ขุ.พุทฺธ.อ. 1/373)
4 มลทินทั้งปวง ได้แก่ มลทิน 3 มีราคะเป็นต้น (ขุ.พุทฺธ.อ. 2/373)

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :706 }


พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย พุทธวงศ์ 23. โกนาคมนพุทธวงศ์
[3] เมื่อพระพุทธเจ้าพระนามว่าโกนาคมนะ ผู้ทรงเป็นผู้นำวิเศษ
ทรงประกาศพระธรรมจักร
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 30,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 1
[4] เมื่อพระองค์ทรงทำปาฏิหาริย์ในการย่ำยีวาทะของผู้อื่น
เทวดาและมนุษย์ประมาณ 20,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 2
[5] จากนั้น พระชินสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงแสดงฤทธิ์ต่าง ๆ
แล้วเสด็จไปยังเทวโลก
ประทับที่บัณฑุกัมพลสิลาอาสน์ในเทวโลกนั้น
[6] พระมุนีนั้นทรงจำพรรษา ทรงแสดงพระอภิธรรม 7 ปกรณ์
ทวยเทพประมาณ 10,000 โกฏิ ได้บรรลุธรรมครั้งที่ 3
[7] แม้พระพุทธเจ้าผู้เป็นเทพยิ่งกว่าเทพพระองค์นั้น
ก็ได้มีการประชุมแห่งพระขีณาสพ
ผู้ปราศจากมลทิน มีจิตสงบระงับ ผู้คงที่ครั้งเดียว
[8] ครั้งนั้น ภิกษุ 30,000 รูป ผู้ข้ามโอฆะ
จะถูกมัจจุราชทำลาย มาประชุมกัน
[9] สมัยนั้น เราเป็นกษัตริย์มีนามว่าปัพพตะ
พรั่งพร้อมด้วยมิตรและอำมาตย์ มีพลนิกายและพาหนะมิใช่น้อย
[10] ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมอันยอดเยี่ยมแล้ว
นิมนต์พระสงฆ์พร้อมทั้งพระชินเจ้า ได้ถวายทานตามที่ตนปรารถนา
[11] ได้ถวายผ้าปัตตุณณะ ผ้าเมืองจีน ผ้าไหม ผ้ากำพล
และฉลองพระบาททองคำแด่พระศาสดาและสาวก
[12] แม้พระพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ประทับนั่งท่ามกลางสงฆ์แล้วทรงพยากรณ์เราว่า
‘ในภัทรกัปนี้ ผู้นี้จักเป็นพระพุทธเจ้า’
[13] พระตถาคตได้เสด็จออกจากกรุงกบิลพัสดุ์ที่น่ารื่นรมย์
ทรงเริ่มตั้งความเพียร บำเพ็ญทุกรกิริยา

{ที่มา : โปรแกรมพระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เล่ม : 33 หน้า :707 }